เทคนิคอ่านหนังสือเตรียมสอบ

15 เทคนิค การอ่านหนังสือเตรียมสอบให้จำง่าย ได้คะแนนเต็ม 

ไม่ว่าจะเป็นการสอบครั้งไหน สอบย่อย สอบควิซ มิดเทอม หรือไฟนอล ทุกคนก็ย่อมคาดหวังที่จะได้คะแนนเต็ม หรือคะแนนที่ดีด้วยกันทั้งนั้น จึงจำเป็นต้องทบทวนความรู้และอ่านหนังสือกันอย่างเต็มที่ แม้หลายคนจะทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาในการอ่านหนังสืออย่างหนัก ก็ยังได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง อาจเป็นเพราะอ่านหนังสือแบบผิดวิธี หรือขาดเทคนิคดีๆ ในการช่วยจำ วันนี้ xchange มีเทคนิคการอ่านหนังสือมาฝากสำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ จะมีเคล็ดลับอย่างไร และจะต้องอ่านหนังสือตอนไหนถึงจะจำได้ดีที่สุด ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันได้เลย

อย่าอ่านหนังสือถึงเช้า

1. นอนหลับให้เพียงพอ อย่าอ่านหนังสือถึงเช้า!

มีคนจำนวนมากที่ใช้เทคนิคในการอ่านหนังสือถึงเช้า หรือ one night miracle โดยเฉพาะคืนก่อนสอบ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้จำได้ดี ไม่ลืมง่าย พร้อมเข้าไปลุยในห้องสอบได้ทันที แต่ความจริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ผิด เพราะนอกจากจะทำให้ง่วงจนเสียสมาธิแล้ว สมองยังล้าจนอาจจะเกิดความสับสน จำผิดจำถูก เรียบเรียงคำตอบออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรวางแผนการอ่านหนังสือล่วงหน้า พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะช่วงเวลาที่เราหลับ สมองจะจัดระเบียบ และเก็บบันทึกเนื้อหาที่เราอ่านให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว จึงช่วยให้จดจำได้ดี แถมตื่นมายังรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง พร้อมอ่านหนังสือหรือทำข้อสอบได้อย่างเต็มที่

2. อ่านหนังสือก่อนนอน 90 นาทีและหลังตื่นนอน 90 นาที

หลายคนสงสัยว่าอ่านหนังสือตอนไหนดีที่สุด เพราะบางคนตื่นมาอ่านแต่เช้า ในขณะที่บางคนก็ชอบอ่านตอนกลางคืน แต่เทคนิคการอ่านหนังสือที่ได้ผลมากที่สุดคือการอ่านแบบแซนด์วิช โดยจะอ่านในช่วงก่อนนอน 90 นาที และหลังตื่นนอนทันทีอีก 90 นาที เพราะคนเรามักจะมีสมาธิอย่างเต็มที่ได้นานสุด 90 นาที และอย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าเมื่อเราหลับ สมองจะนำสิ่งที่เราอ่านไปทบทวน จัดระเบียบ ก่อนจะบันทึกไว้เป็นความทรงจำระยะยาว พอเราตื่นขึ้นมาแล้วได้ทบทวนเนื้อหาที่อ่านไปเมื่อคืนซ้ำอีกครั้ง ก็จะเป็นการย้ำสมองให้จำได้อย่างแม่นยำ ไม่มีลืมแน่นอน

เตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อม เอื้อต่อการอ่านหนังสือ

3. เตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อม เอื้อต่อการอ่านหนังสือ

นอกจากเวลาที่เหมาะสม สถานที่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการอ่านหนังสือด้วยเช่นกัน เพราะการอ่านหนังสือต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก หากมีสิ่งรบกวนหรือเบี่ยงเบนความสนใจตลอดเวลา ก็จะทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง ประสิทธิภาพในการจำลดลง จับใจความหรือทำความเข้าใจกับสิ่งที่อ่านไม่ได้ กลายเป็นเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นเทคนิคเพิ่มสมาธิในการอ่านหนังสือ จึงต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่มีเสียงดังรบกวน ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน อากาศไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป และอย่าลืมปิดมือถือ งดโซเชียลเป็นการชั่วคราว 

4. การอ่านออกเสียง 

หากใครอ่านหนังสือเงียบๆ แล้วไม่ได้ผล ลองเปลี่ยนมาใช้เทคนิคการอ่านหนังสือแบบออกเสียง สมองจะจดจำทั้งภาพและเสียงไปพร้อมกัน เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคนเรามักจะจดจำเสียงของตัวเองได้ดีกว่าเสียงของคนอื่น อีกทั้งเสียงยังเป็นตัวกระตุ้นให้ประสิทธิภาพในการจดจำดีและชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น การจำคำศัพท์ ถ้าได้ออกเสียงไปด้วย จะรู้สึกคุ้นชินมากกว่าการอ่านในใจ เป็นต้น เพียงแค่ขยับปากพูดตามไปเรื่อยๆ ส่วนไหนที่ยากหรือจำไม่ได้ให้พูดซ้ำๆ สมองจะจดจำคำพูดเหล่านั้นได้ขึ้นใจ หรืออาจจะใช้วิธีถามตอบกับตัวเอง อธิบายให้ตัวเองฟัง เพื่อทบทวนว่ามีความเข้าใจและจำได้มากน้อยแค่ไหน มีส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่องไป จะได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม

การอ่านทุกคำ ไม่ใช่เรื่องที่ดี

5. การอ่านทุกคำ ไม่ใช่เรื่องที่ดี

โดยทั่วไปแล้วหนังสือแต่ละเล่มมักจะเน้นรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ทุกแง่ทุกมุม แต่บางทีก็เป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องจำให้ได้ทั้งหมด หรือมีการย้ำเรื่องเดิมซ้ำๆ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเบื่อ สมองล้า ตาเบลอ เหนื่อยจนไม่อยากอ่าน เพราะฉะนั้นเทคนิคการอ่านหนังสือจึงควรเน้นอ่านที่บทสรุป และอ่านแต่ละหัวข้อแบบผ่านๆ หรือที่เรียกว่า Skimming และ Scanning กวาดสายตาหาคำสำคัญ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ฯลฯ เอาแค่พอให้จับประเด็นหรือใจความสำคัญของเรื่องนั้นได้ จุดไหนที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ ค่อยกลับมาอ่านรายละเอียดให้ลึกขึ้นอีกครั้ง

6. ดูสารบัญและหัวข้อย่อยก่อนอ่าน

สารบัญจะประกอบไปด้วยชื่อบทหรือหัวข้อหลัก และหัวข้อย่อยต่างๆ ทั้งหมดที่มีในหนังสือ เพราะฉะนั้นเพียงแค่อ่านสารบัญก็จะสามารถทราบได้คร่าวๆ ทันทีว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เรียงลำดับความสำคัญของหัวข้อก่อน-หลังได้ หรือเลือกอ่านเฉพาะส่วนที่จำเป็นก่อนหากมีเวลาจำกัด เทคนิคนี้ช่วยประหยัดเวลาในการอ่านหนังสือได้ดีทีเดียว

อ่านสรุปบทเรียนก่อนเป็นอย่างแรก

7. อ่านสรุปบทเรียนก่อนเป็นอย่างแรก

เวลาสอบหลายวิชาพร้อมกัน หรือบทเรียนมีเนื้อหาเยอะ แต่มีเวลาเตรียมตัวไม่มาก ให้ใช้เทคนิคการอ่านหนังสือโดยข้ามไปอ่านบทสรุปหรือบทส่งท้ายก่อนเลย เพราะนั่นคือใจความสำคัญที่จำเป็นต้องรู้ ซึ่งผู้เขียนมักจะสรุปให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย ต่างจากตัวเนื้อหาที่มักจะยาว มีคำซ้ำๆ ประโยคซ้ำๆ หรือบางส่วนก็อาจจะเป็นเนื้อหาที่เราไม่ต้องการ นอกจากนี้ยังทำให้เห็นภาพรวมของเนื้อหา และสามารถย้อนกลับไปเลือกอ่านรายละเอียดเฉพาะในส่วนที่สำคัญหรือส่วนที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น

8. อย่าลืมไฮไลต์ใจความสำคัญ

ปากกาไฮไลต์เรียกว่าเป็นของคู่ใจวัยเรียน เพราะตัวหนังสือที่ยาวติดกันทั้งหน้าทำให้อ่านแล้วตาลาย เวลาจะอ่านส่วนที่ต้องการซ้ำก็หายาก และเนื้อหาบางส่วนก็ยังไม่จำเป็นอีกด้วย เพราะฉะนั้นให้ใช้ปากกาไฮไลต์สีสันสดใสเข้ามาช่วยเน้นส่วนที่สำคัญ ทำให้สมองจดจำได้ดีขึ้นคล้ายกับการจำเป็นรูปภาพ กระตุ้นให้เกิดความสนใจ ไม่น่าเบื่อ พยายามเน้นตรงหัวข้อ ส่วนสรุป หรือคำที่สำคัญเท่านั้น อย่าลากยาวทั้งประโยค หรือใช้เทคนิคแยกสีเพื่อให้เกิดความแตกต่างและจำง่ายขึ้น เช่น ปีพ.ศ. ใช้สีเหลือง, ชื่อคนใช้สีเขียว, ชื่อสถานที่ใช้สีชมพู เป็นต้น

 ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบกับเนื้อหาที่อ่าน

9. ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบกับเนื้อหาที่อ่าน

เพราะความรู้มีอยู่ไม่จำกัด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเลือกแค่เล่มใดเล่มหนึ่ง อาจจะใช้ประกอบกันหลายเล่ม หรือเปิดหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต เพราะแม้เนื้อหาจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผู้เขียนแต่ละคนก็มีภาษาที่ใช้ รูปแบบ หรือการนำเสนอที่แตกต่างกัน บางเล่มใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย บางเล่มเน้นเนื้อหา บางเล่มมีรูปภาพประกอบหรือมีแบบฝึกหัดให้ทำท้ายบท ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำที่ต่างกัน 

10. เขียนสรุปภาษาของตัวเอง

การสรุปเนื้อหาหลังอ่านจบ เป็นเทคนิคในการอ่านหนังสือที่สามารถวัดได้ว่าเราเข้าใจในสิ่งที่อ่านไปแค่ไหน อีกทั้งยังเป็นการทบทวนเนื้อหา ย้ำเตือนความจำ และเป็นการฝึกอธิบายเพื่อนำไปใช้ตอบในข้อสอบได้อีกด้วย โดยเราสามารถสรุปตามความเข้าใจและเขียนเป็นภาษาของตัวเองได้เลย จะอ่านง่ายกว่าสรุปในหนังสือที่ใช้ภาษาค่อนข้างทางการ เวลาใกล้สอบก็หยิบมาอ่านอีกครั้ง จะเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

สรุปเป็นรูปภาพ

11. สรุปเป็นรูปภาพ

การสรุปเป็นรูปภาพก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการอ่านหนังสือที่ช่วยให้จดจำได้แม่นยำกว่าเดิม เพราะคนเรามักจดจำรูปภาพได้ดีกว่าตัวหนังสือ เหมือนเวลาเราเจอเหตุการณ์ต่างๆ ภาพเหล่านั้นก็มักจะอยู่ในความทรงจำ วิธีนี้เหมาะสำหรับการท่องจำพวกคำศัพท์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือเรื่องราวที่ต้องอาศัยจินตนาการเข้ามาช่วย แต่หากไม่ถนัดในการวาดรูป ก็อาจจะทำเป็น Mind map หรือแผนภูมิรูปภาพง่ายๆ ใส่เฉพาะหัวข้อ ไม่ต้องเน้นรายละเอียดเยอะ เติมสีสันหรือติดสติกเกอร์ลงไปแทนก็ได้

12. เน้นการทำโจทย์ ฝึกทักษะ ทดสอบความจำ

บางวิชาอาจจะเน้นการท่องจำ แต่บางวิชา เช่น คณิต ฟิสิกส์ หรือแม้แต่วิชาเกี่ยวกับภาษา อาจจะต้องใช้เทคนิคในการอ่านหนังสือร่วมกับการทำโจทย์หรือแบบฝึกหัด เพราะรูปแบบของโจทย์มักจะคล้ายเดิม วนไปวนมาไม่กี่รูปแบบ ดังนั้นเมื่ออ่านเนื้อหาจนจบบทแล้ว ก็ลองมาวัดความรู้ ความจำ และความเข้าใจสักหน่อย ยิ่งทำเยอะก็จะรู้ข้อผิดพลาดเยอะ ตรงไหนที่พลาดซ้ำๆ ก็จะจำได้และไม่พลาดอีก พอถึงเวลาเจอข้อสอบจริงจะได้ตื่นเต้นน้อยลงด้วย

แยกเป็นหมวดหมู่ อ่านเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ปนวิชา

13. แยกเป็นหมวดหมู่ อ่านเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ปนวิชา

หนังสือที่มีเนื้อหาเยอะคงไม่สามารถอ่านได้แบบรวดเดียวจบ แต่หากเราอ่านข้ามไปข้ามมา หลายวิชาพร้อมกัน ก็จะทำให้เกิดความสับสนได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนการดูหนัง หากเราดูค้างไว้แล้วมาเปิดดูต่อก็จะจำเรื่องราวก่อนหน้าได้ดี แต่หากดูพร้อมกันหลายเรื่อง ก็อาจจะลืมเนื้อหาของเรื่องแรกไปแล้ว หรือจำชื่อตัวละครสลับกันไปหมด เพราะฉะนั้นเทคนิคก็คือ ก่อนการอ่านหนังสือให้วางแผน จัดลำดับ รวมถึงแยกเอกสารเป็นชุดเตรียมไว้ เริ่มจากวิชาง่ายๆ วิชาที่มีเนื้อหาไม่เยอะ เพื่อความรวดเร็วและไม่น่าเบื่อ 

14. จดคำถามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่าน

การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะนำไปสู่การหาคำตอบที่ถูกต้อง และไม่แน่ว่าบางทีสิ่งที่เราสงสัยอาจจะกลายเป็นคำถามในข้อสอบได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเทคนิคในการอ่านหนังสือคือสงสัยตรงไหนให้จดใส่กระดาษไว้ก่อน แล้วไปหาคำตอบเพิ่มเติม หรืออาจจะลองตั้งโจทย์เอง เหมือนเป็นการเดาทางข้อสอบ พอเราได้ตั้งคำถาม ได้ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูล ก็จะทำให้เราจดจำสิ่งเหล่านี้ได้แม่นยำแบบไม่ต้องท่องจำเลย

พูดคุย ถกเถียง เนื้อหาก่อนสอบกับเพื่อน 

15. พูดคุย ถกเถียง เนื้อหาก่อนสอบกับเพื่อน 

การพูดคุยก็เป็นการทบทวนอย่างหนึ่ง ซึ่งเทคนิคนี้สนุกกว่าการอ่านหนังสือทบทวนคนเดียว โดยอาจจะหยิบยกประเด็นมาถกเถียงกัน ผลัดกันอธิบายคนละหัวข้อ ทายคำศัพท์ เดาโจทย์ข้อสอบและลองตอบดู ซึ่งเมื่อนึกถึงเหตุการณ์นี้ก็จะจดจำเนื้อหาที่พูดคุยกันได้ดีกว่าการอ่าน และอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเจอประเด็นที่เผลอมองข้ามไปอีกด้วย

สรุป

การสอบถือเป็นการวัดความรู้และความเข้าใจในบทเรียนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผลคะแนนสอบจะออกมาดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมโดยเน้นไปที่การอ่านหนังสือและทบทวนบทเรียนเป็นหลัก ซึ่งการนำเทคนิคต่างๆ ในการอ่านหนังสือเข้ามาช่วย จะทำให้จดจำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องนั่งอ่านทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าใครมีปัญหาเกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษ หรืออยากได้คะแนนดีๆ XChange English มีคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ ที่มาพร้อมรูปแบบการเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย เนื้อหาทันสมัย มีเทคนิคและตัวช่วยดีๆ ที่ทำให้จำคำศัพท์ได้รวดเร็ว สะดวกสบายด้วยการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ตอบโจทย์ด้วยคอร์สที่หลากหลายสำหรับการสอบทุกรูปแบบ แม้ไม่มีพื้นฐานก็ไม่ต้องกังวล เพราะ XChange English จะทำให้ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

CONTACT US!