พี่ยูริได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกจากครูชาวต่างชาติคนแรกของพี่ ที่ชื่อว่า Teacher Nass เป็นครูชาวแคเนเดียน ซึ่งมันกระแทกใจพี่มาก จนพี่รู้สึกเหมือนโดนต้องมนต์เลย
สมัยพี่เด็กๆ การไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเป็นสิ่งที่พี่ไม่เคยนึกถึงเลย พี่เป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ตั้งใจสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ และอยากเรียนต่อคณะในฝันอย่างอักษร จุฬาฯ ให้ได้ แต่หลังจากได้ฟังคำพูดของ Teacher Nass ในวันนั้น ความคิดของพี่เปลี่ยนไปทันที…
“ฉันจะไปเหยียบประเทศอื่นให้ได้”
ใช่ค่ะ ฝันของพี่เริ่มใหญ่ขึ้น พี่เริ่มเข้าใจว่าโลกใบนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย ให้เราได้ค้นหาความรู้และประสบการณ์ที่เราไม่สามารถหาได้จากที่นี่ บวกกับตัวเองก็อยากเที่ยวด้วย 5555555 พี่ยูริเลยตัดสินใจว่าพี่ต้องไปเรียนต่างประเทศให้ได้! Go big or go home? จุดนี้พี่เลือก Go big ค่ะ ไม่ไปไม่รู้ จริงไหมคะ?
ทีนี้ เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว พี่ยูริก็เริ่มวางแผนเลยค่ะ (ของถนัดพี่เลย เนื่องจากพี่เป็นเกมเมอร์ พี่เลยชอบวางแผนเก็บ Level มากๆ ค่ะ) พี่ขอแนะนำนะคะว่า
ขั้นแรก เริ่มจากการ ‘เลือกระดับการศึกษา’
ว่าตัวเองอยากเรียนต่อช่วงระดับไหน ม.ปลาย / ป.ตรี / ป.โท หรือ ป.เอก ส่วนตัวพี่ยูริเลือก ป.โท ค่ะ (ทริคเล็กๆ ของพี่คือ ป.โทเป็นช่วงที่ทุนเยอะที่สุด และมหาวิทยาลัยต่างประเทศจะรับวุฒิ ป.ตรี จากไทยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทุนระดับ ม.ปลาย หรือ ป.ตรี จะต้องรอลุ้นเยอะกว่า)
ขั้นตอนต่อไป คือการ ‘เลือกจุดหมายปลายทาง’
ส่วนตัวพี่คิดว่าขั้นตอนนี้สนุกที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยให้เราได้สำรวจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะการค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง รวมถึงช่วยให้การวางแผนการเรียนต่อของเราง่ายขึ้นค่ะ
ซึ่งจุดหมายปลายทางที่พี่เลือกก็คือ ประเทศเยอรมัน
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมพี่ไม่เลือกไปประเทศอเมริกาหรือประเทศอังกฤษ เหมือนคนส่วนใหญ่? เหตุผลก็เพราะ…
– พี่เรียนสาขาภาษาเยอรมันและประวัติศาสตร์ยุโรป
– พี่สนใจในประวัติศาสตร์ ผู้คน และบรรยากาศเมืองยุโรป
– เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเดินทางท่องเที่ยว เพราะประเทศเยอรมันตั้งอยู่ใจกลางยุโรปเลยค่ะ
และที่สำคัญ พี่ยูริอยากได้ภาษาที่สามค่ะ แน่นอนว่าทุก “ภาษา” มีความสำคัญ ซึ่งรวมถึง ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาที่คนนิยมใช้มากที่สุดในโลก แต่สำหรับพี่ การที่จะ Go big จะต้องมองการณ์ไกลค่ะ ลำพังการรู้เพียงสองภาษาอาจไม่เพียงพอ และหากในอนาคตทุกคนพูดภาษาอังกฤษเหมือนกันหมด เราจะมีอะไรพิเศษจากคนอื่นล่ะ? จุดนี้ ภาษาที่สามช่วยคุณได้ค่ะ
หาทุนการศึกษา VS. ไปด้วยทุนตัวเอง
มาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ก็คือ ‘เรื่องค่าใช้จ่าย’ ค่ะ
พี่ไม่อยากรบกวนทางบ้าน พี่เลยเลือกสอบ “ทุนคิง” ค่ะ ชื่อเต็มของทุนนี้คือ King’s Scholarship หรือ “ทุนเล่าเรียนหลวง” แน่นอนว่าทุนนี้เป็นทุนเต็มจำนวน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก รวมถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตลอดปีการศึกษาเลยค่ะ
ส่วนน้องๆ ที่เลือกไปด้วยทุนของตัวเอง ต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอต่อปี นอกจากค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายประจำวันแล้ว น้องๆ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราอาจลืมนึกถึงไป เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับขอวีซ่านักเรียน ค่าตั๋วเครื่องบินเครื่อง ค่าประกันสุขภาพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศเยอรมัน ถ้ามีค่าใช้จ่ายประจำวันเดือนละ 30,000-40,000 บาท (ตกปีละ 480,000 บาท) เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นด้วยแล้ว น้องๆ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 8-9 แสน หรือเกือบหนึ่งล้านบาท
(แล้วแต่โปรแกรมที่เราไปเรียนด้วยนะคะ ที่เยอรมันส่วนใหญ่มักเรียนฟรี ถ้าเป็นที่อื่น เช่น อังกฤษจะมีค่าเล่าเรียนที่ต้องบวกเพิ่มไปด้วย)
แต่อย่าลืมว่า น้องๆ สามารถทำงานหารายได้เสริมระหว่างเรียนได้ด้วยนะคะ สามารถเอารายรับส่วนนี้มาหักลบ หรือใช้จ่ายอย่างประหยัดก็อยู่ได้ไม่ลำบากค่ะ
ทุนการศึกษา โอกาสสำคัญของเด็กไทย
มาถึงตรงนี้แล้ว น้องๆ อาจคิดว่า แพงจัง อยู่ไทยเหมือนดีกว่า แต่เชื่อไหมคะ? พี่เคยลองมานั่งคำนวณดู บางหลักสูตรที่ไทยแพงกว่าที่เยอรมันอีก โดยเฉพาะน้องที่บ้านไกลจากที่เรียน ก็ต้องเสียเงินมาเช่าหอพักใกล้ๆ มหา’ลัย อยู่ดี ซึ่งเปรียบเทียบแล้ว ไม่ต่างกับการเช่าที่พักที่ต่างประเทศค่ะ
ดังนั้น หากปัญหาของน้องๆ คือเรื่องค่าใช้จ่าย พี่ยูริแนะนำให้หาทุนค่ะ ปัจจุบันมีทุนให้เปล่าหลายทุนที่เปิดรับสมัคร เช่น ทุน Fulbright สำหรับเรียนต่อ ป.โท ที่อเมริกา หรือ ทุน DAAD ที่ให้น้องๆ ได้เรียนต่อ ป.โท ที่เยอรมันฟรีๆ (มีหลักสูตรเรียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ!)
แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีเลยคือ เกรดเฉลี่ยที่ค่อนข้างดี พยายามรักษาเกรดให้ได้ 3.5 ขึ้นไปค่ะ รวมถึงหลักฐานความรู้ภาษาอังกฤษในรูปแบบคะแนน TOEFL iBT (ฟัง พูด อ่าน เขียน) ถ้าจะให้ดี พี่ยูริแนะนำสอบให้ได้ประมาณ 100 คะแนนค่ะ เพราะเราจะสามารถใช้ยื่นได้ทั้งทุน รวมถึงใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยภาคอังกฤษด้วยค่ะ (ถ้าใครจะเข้าภาคเยอรมันจะใช้ TestDaF C1 ค่ะ)
โดดเด่นกว่าใคร ด้วยผลสอบ TOEFL iBT
ทริคส่วนตัวอีกอย่างของพี่นะคะ คือเราต้องโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่นค่ะ
จากในบรรดาผู้สมัครที่ยื่นคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษรูปแบบต่างๆ นั้น พี่ยืนยันว่า TOEFL iBT คะแนน 118/120 ของพี่ คือใบเบิกทางที่ช่วยให้มีโอกาสผ่านเข้ารอบสูงมากค่ะ (ยืนหนึ่งค่ะ)
พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ใน 10 คน จะมีแค่ 2 คนที่เลือกสอบ TOEFL iBT
ซึ่งเป็นข้อสอบเพชรยอดมงกุฏที่ทั้งโลกยอมรับ (แต่เชื่อไหมว่า มันไม่ได้ยากกว่าข้อสอบแบบอื่นเลย) เอาเป็นว่า ถ้าอยากโดดเด่น และอยากล่าทุน ล่าที่นั่งในมหาวิทยาลัย พี่ยูริแนะนำให้สอบ TOEFL iBT ค่ะ
การเตรียมตัวก่อนสอบเพื่อสมัครทุน
มาถึงเรื่องการเตรียมตัว ถึงพี่จะค่อนข้างคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษจากการเรียนคณะอักษรฯ มาอยู่แล้ว แต่ก็ห้ามประมาทเด็ดขาดนะคะ พี่ยูริใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 8 เดือนเลยค่ะ (จริงๆ ถ้าจะให้ดีที่สุดคือ 1 ปีค่ะ)
สรุปแล้ว พี่เตรียมตัวเองประมาณ 30%
อีก 70% พี่เดินตามรอยคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วค่ะ
พี่ได้ทั้งไกด์คำตอบที่ควรตอบ ได้เทคนิคการอ่านตาราง และอีกหลายอย่างมากๆ ณ ตอนนี้พี่มาเป็นครู พี่ก็อยากส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้น้องๆ รุ่นใหม่ได้นำไปใช้กันอย่างที่พี่เคยได้รับโอกาสนั้นมา
แม้ในปัจจุบันรูปแบบข้อสอบจะมีการปรับเปลี่ยนไปแล้วบ้าง พี่ก็พยายามพัฒนาเทคนิคที่เหมาะสมกับข้อสอบปัจจุบันมากที่สุด เทคนิคของพี่ไม่ใช่แค่การบอกว่า ‘อ่านคำถามก่อนนะคะ’ แต่เป็นเทคนิคที่เป็นโครงสร้างเอาไปเขียนตอบได้เลย หรือคีย์เวิร์ดที่เห็นปุ๊ป ตอบได้ปั๊บ เพราะพี่เข้าใจดีว่า หัวใจคนสอบมันเจ็บปวดขนาดไหน 5555555 เลยเป็นที่มาของเทคนิคสูตรเฉพาะของพี่ ที่ตั้งใจคิดค้นมาเพื่อนักเรียนไทยโดยเฉพาะเลยค่ะ 🙂
ใครที่ยังไม่ได้อัพเดทข้อสอบก็อาจจะบอกว่าข้อสอบยาก แต่น้องคะ ‘มัน ง่าย มาก’ พี่การันตีเลย อยากให้ทุกคนรับ TOEFL iBT ไว้พิจารณานะคะ เปิดโลกแน่นอน!
ก่อนที่จะบ๊ายบายกัน พี่มี 7 ข้อที่อยากฝากให้น้องๆ ที่น่ารักทุกคน จากประสบการณ์การเรียนต่อต่างประเทศของพี่โดยตรง
1. พึ่งตัวเองให้มากที่สุด
อาจารย์ที่นั่นจะไม่โอ๋เรานะคะ ที่ต่างประเทศเขาจะ Treat นักเรียน-นักศึกษาแบบผู้ใหญ่ ถึงเป็นเพื่อนกันก็ไม่โอ๋นะคะ ถ้าเรามีปัญหาเรื่องภาษา หรือจะขอยืม Lecture อันนี้ยังพอให้เขาช่วยได้ แต่สุดท้าย ก็ต้องพึ่งตัวเราค่ะ
อย่างอาจารย์ตอนที่พี่ไปเรียน อาทิตย์นึงแกมีเวลาให้แค่ 30 นาทีสำหรับปรึกษาเรื่องเรียน ดังนั้นพี่ต้องบริหารเวลาให้ดี ถ้าอาทิตย์ไหนเราพลาดโอกาสคุยไปแล้ว ก็คือพลาดเลย เขาจะไม่ตามเราด้วยนะ คะแนนก็หายไปเลยค่ะ กระบวนการวางแผนทำอะไรด้วยตัวเองแบบนี้ จะฝึกให้เราเก่งขึ้น เป็นผู้นำขึ้น ซึ่งพี่ยูริมองว่ามันหาซื้อกันไม่ได้ค่ะ
2. พยายามอยู่กับชาวต่างชาติ
เพื่อฝึกภาษา เรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งที่พี่เห็นมาก็คือ เด็กชาติเดียวกันมักจะเกาะกลุ่มกันเอง แล้วก็พูดแต่ภาษาตัวเอง พี่ว่ามันก็น่าเสียดายโอกาสในการฝึกภาษานะคะ พอเรียนใกล้จบเราถึงเริ่มรู้สึกว่า อีกแป๊บเดียวก็จะเรียนจบแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำนู่นนี่เลย คนที่เคยไปเรียนต่อเมืองนอกจะเข้าใจความรู้สึกนี้ดี เราควรใช้ทุกนาทีให้มีค่านะคะ
3. ถ้าเรียนไม่เข้าใจให้ หา Buddy ไว้เลย
เป็นคู่หูคู่เรียน แล้วก็อย่าลืมเข้าห้องสมุดบ่อยๆ
4. ทำอาหารกินเอง
จะประหยัดกว่าการไปกินข้าวข้างนอกเยอะมากกกกกกกก จงปลุกความเป็นเชฟในตัวคุณค่ะ
5. อย่าลืมเที่ยวด้วย
ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรียน ถ้าว่างเมื่อไหร่ นั่งรถไฟเที่ยวเลยค่ะ ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ หรือถ้ามีเวลาว่างมีโอกาสทำงาน ก็ควรลองทำนะคะ ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งประสบการณ์
6. เวลาที่เครียดหรือทำอะไรผิดพลาด ให้คิดว่า ‘มันคือการเรียนรู้‘
เราอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ปกติก็เหงาอยู่แล้ว พยายามอย่ากดดันตัวเองจนเครียดมากเกินไปนะคะ พี่เป็นห่วงเรื่องนี้จริงๆ ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป สมัยนี้ติดต่อกันง่ายมากๆ ถ้าเครียดมากก็โทรไปเล่า ไประบายกับเพื่อนได้ หรือพูดคุยกับทางบ้าน หรือทักมาคุยมาปรึกษากับพี่ยูริก็ได้นะคะ พี่ยินดีรับฟังน้องๆ ทุกคนเลยค่ะ
7. อย่าเอาตัวเองไปในที่ที่อันตราย *ข้อสุดท้ายสำคัญมาก*
หลายคนถามพี่มาว่า ไปเรียนต่างประเทศคนเดียวจะอันตรายไหม จะมีการเหยียดไหม และอื่นๆ อีกมากมาย พี่บอกเลยว่า ‘เราต้องระวังไว้ แต่ไม่ตื่นตูม’ ตรงไหนดูมืดๆ ดูอันตราย อย่าไปค่ะ เพื่อนคนไหนมาแปลกๆ ดูไม่น่าไว้วางใจก็ต้องระวัง อย่าเชื่อคนง่าย เอาง่ายๆ คือต้องใช้ Sense เยอะๆ มีสติตลอดเวลา แล้วการใช้ชีวิตจะปลอดภัยค่ะ
พี่ยูริขอให้น้องๆ ทุกคนที่อยากไปเรียนต่อประสบความสำเร็จทุกคนนะคะ
ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมถามมาได้เลยนะคะ
จะคอมเมนท์หรือ Inbox มาที่ FB: XChange English ก็ได้ค่ะ พี่ยูริสแตนด์บายรออยู่ตลอดค่ะ
รวมคลิปติว TOEFL
เคล็ดไม่ลับ! รวมเทคนิคในการทำข้อสอบ TOEFL